ไข้เลือดออก และวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดใหม่
- เชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่ง ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดที่ติดเท่านั้น ดังนั้นเราจึงสามารถติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีได้มากกว่า 1 ครั้ง
- วัคซีนป้องกันไวรัสไข้เลือดออก มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจากทุกสายพันธุ์ ได้ 80.2% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 90.4% สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4 – 60 ปี โดยไม่ต้องเจาะเลือดหาภูมิต้านทานก่อน
- วัคซีนมีความปลอดภัย ผลข้างเคียงที่พบเป็นเพียงผลข้างเคียงทั่วไป เช่น อาการปวดตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ โดยส่วนมากมักหายได้เองภายใน 1-3 วัน
ไวรัสไข้เลือดออกเดงกีมี 4 สายพันธุ์
เชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์จะถูกเรียกว่าซีโรไทป์ (Serotype) ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 โดยส่วนใหญ่แล้วไข้เลือดออกเดงกีมักไม่มีอาการแสดง หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ในบางรายอาจจะมีอาการรุนแรง จนถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้ และเป็นโรคที่คาดเดาได้ยากว่าใครจะอาการรุนแรงหรือไม่รุนแรง
คนเราสามารถติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีได้ถึง 4 ครั้ง จริงหรือไม่?
เชื้อไวรัสไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์จะเกิดการแพร่ระบาดสลับหมุนเวียนกัน ทำให้ในแต่ละปีมีสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม พบว่าสายพันธุ์ที่ระบาดหลักในประเทศไทยนั้น เป็นสายพันธุ์ 1 และ 2 การแพร่ระบาดที่แตกต่างกันหลายสายพันธุ์ จึงเป็นผลให้คนเราอาจไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดนั้นๆ เพราะการติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่ง ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีแค่ชนิดที่ติดเท่านั้น แต่ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอาจจะป้องกันสายพันธุ์อื่นๆ ได้ในชั่วคราว ทำให้ตลอดชีวิตของเราสามารถที่จะติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีได้มากกว่า 1 ครั้งนั่นเอง
การติดเชื้อซ้ำอาจทำให้อาการรุนแรงมากกว่าเดิม
หากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีครั้งที่ 2 เกิดจากสายพันธุ์ชนิดที่แตกต่างจากเดิม อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแสดงอาการที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากว่าการติดเชื้อซ้ำในครั้งที่ 2 จะเกิดการกระตุ้นภูมิต้านทานของการติดเชื้อในครั้งก่อน แต่เป็นภูมิต้านทานชนิดที่ไม่สามารถป้องกันโรคได้ และทำให้เชื้อไวรัสไข้เลือดออกสามารถกระจายตัวได้มากขึ้น ทำให้มีอาการรุนแรงได้มากขึ้น จึงเป็นผลให้การติดเชื้อในครั้งที่ 2 มีอาการรุนแรงมากกว่าเดิม
ไข้เลือดออก ติดได้ ไม่เลือกคน
ยุงลาย คือพาหะนำโรคไข้เลือดออกเดงกี ซึ่งมักจะอาศัยอยู่ในสภาพอากาศอบอุ่น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือตามหมู่บ้าน หากมีคนอาศัยอยู่ ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคก็สามารถเจริญเติบโตได้ ซึ่งหมายความว่าเราทุกคนมีโอกาสติดเชื้อไข้เลือดออกเดงกีได้ตลอดเวลา
ทำไมไข้เลือดออกเดงกีจึงเพิ่มมากขึ้น
ไข้เลือดออกเดงกีเป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ซึ่งแพร่กระจายได้เร็วที่สุดในโลก โดยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 30 เท่าเมื่อเทียบกับ 50 ปีก่อน ผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีเพิ่มมากขึ้นเพราะกิจกรรมของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น
ยุงลาย สามารถแพร่เชื้อไวรัสเดงกี เจริญเติบโตในเขตที่อยู่อาศัยของมนุษย์ หมู่บ้าน และเมืองใหญ่ มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วใน 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเอเชียและลาตินอเมริกา
ไข้เลือดออกเดงกีมักแพร่กระจายโดยยุงลาย Aedes aegypti ซึ่งต้องการอุณหภูมิที่อบอุ่นในการดำรงชีวิตและขยายพันธุ์ แต่ยุงลาย Aedes albopictus ก็สามารถแพร่เชื้อไข้เลือดออกเดงกีได้เช่นกัน ยุงชนิดนี้สามารถอยู่รอดในอากาศที่เย็นกว่า และแพร่เชื้อไข้เลือดออกเดงกีไปยังพื้นที่ เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป
การเป็นชุมชนเมืองที่ประชากรอยู่อาศัยกันหนาแน่น มักทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มมากขึ้น ทำให้ยุงสามารถกัดคนและแพร่เชื้อได้มากขึ้น นักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อ สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสเดงกีได้ไกลและกว้าง การเคลื่อนย้ายของประชากรที่เพิ่มมากขึ้นจากอดีต การเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้ไข้เลือดออกเดงกีแพร่กระจาย เร็วขึ้น และไกลขึ้น ไข้เลือดออกเดงกีเป็นสาเหตุที่พบบ่อยเป็นอันดับสองรองจากมาลาเรียที่ทำให้เป็นไข้ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ป่วย
ไข่ยุงและลูกน้ำยุง สามารถเดินทางได้เช่นกัน โดยมักจะติดไปกับสินค้าที่สามารถเก็บกักน้ำ และถูกขนส่งระหว่างประเทศ เช่น ยางรถยนต์เก่า และภาชนะน้ำขัง เมื่ออุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น สภาพความชื้นและความอบอุ่นที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของยุงก็เพิ่มมากขึ้น ช่วยให้ยุงมีที่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้น
การระบาดของไข้เลือดออกในประเทศไทย
- สถานการณ์ไข้เลือดออกในปีระบาดหนัก สูงสุดในรอบ 5 ปี พบผู้ป่วยแล้วกว่า 54,000 ราย พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึงสัปดาห์ละ 7,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 44 ศพ ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว (2022) ถึง 3 เท่า
- เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้วยังป่วยได้อีก และอาจเสี่ยงต่ออาการที่รุนแรงมากขึ้น แม้การป่วยครั้งแรกจะไม่แสดงอาการก็ตาม
- ไข้เลือดออกคาดเดาความรุนแรงของโรคได้ยาก ไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจง ไม่ว่าคนแข็งแรงดี หรือมีโรคประจำตัวก็มีโอกาสเป็นไข้เลือดออกรุนแรงได้เหมือนกัน
อาการของไข้เลือดออกเดงกี เทียบกับอาการของโรคอื่น
โรคไข้เลือดออกเดงกี โรคชิคุนกุนยา โรคมาลาเรีย โรคไข้ซิก้า หรือโรคอื่นๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น หวัด หรือแม้กระทั่งโรคโควิด-19 อาจทำให้เราเกิดความสับสนเกี่ยวกับอาการของโรคได้
โรคไข้เลือดออกเดงกี โรคชิคุนกุนยา โรคไข้ซิก้า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มียุงชนิดเดียวกันเป็นพาหะ ซึ่งมักจะกัดเราในเวลากลางวัน ในขณะที่โรคมาลาเรียเองก็มียุงเป็นพาหะ แต่เกิดจากเชื้อปรสิต ซึ่งโรคเหล่านี้ทำให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้นมากมาย รวมไปถึงอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อ ซึ่งไข้หวัดและโรคโควิด-19 ก็อาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้ในระยะเริ่มต้นของการติดเชื้อได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม อาการอื่นๆ ของโรคโควิด-19 ก็มีความแตกต่างออกไปจากการติดเชื้อไข้เลือดออกเดงกี นั่นก็คือ อาการไอ หายใจหอบ สูญเสียการรับรู้รสหรือกลิ่น เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล และท้องเสีย และที่สำคัญคือ ยุงไม่ใช่พาหะนำโรคที่ก่อให้เกิดหวัด หรือโรคโควิด-19 หากแต่เกิดจากการสัมผัสบุคคลที่มีเชื้อไวรัส
ไข้เลือดออก ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
- วัคซีนไข้เลือดออก ชนิดใหม่ ผลิตจากประเทศเยอรมนี สามารถฉีดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ที่มีอายุระหว่าง 4-60 ปี
- วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจากทุกสายพันธุ์ ได้ 80.2% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 90.4%
- ฉีดง่ายสะดวก เพียงแค่ 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน โดยสามารถฉีดได้ทั้งคนที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน โดยไม่ต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด
- วัคซีนมีความปลอดภัย ผลข้างเคียงที่พบเป็นเพียงผลข้างเคียงทั่วไป ได้แก่ อาการปวดตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ โดยส่วนมากมักหายได้เองภายในเวลา 1-3 วัน